วิสัยทัศน์

สมาคมได้กำหนดวิสัยทัศน์ให้

“เป็นองค์กรหลักที่ช่วยส่งเสริม พัฒนา และกำหนดทิศทางของธุรกิจคลังสินค้า ไซโล และห้องเย็น เพื่อให้บริการที่ตอบสนองต่อความต้องการและความคาดหวังของผู้ใช้บริการ  ทั้งในด้านคุณภาพ  ราคา  และความสะดวกรวดเร็ว”

โดยมีแนวทางในการขับเคลื่อนที่สำคัญ 3 ประการดังนี้

1 . เป็นผู้แทนของผู้ประกอบการคลังสินค้า ไซโล และห้องเย็น
ในการประสานความร่วมมือ กับภาครัฐและองค์กรเอกชนอื่นๆ เพื่อแก้ไขปัญหาและส่งเสริมธุรกิจ

2. ส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการ
คลังสินค้า ไซโล และห้องเย็น ให้ยกระดับคุณภาพและความสามารถในการแข่งขัน

3. เป็นศูนย์ข้อมูลและสถิติที่สำคัญของธุรกิจ
รวมทั้งเผยแพร่แก่ผู้ประกอบการเพื่อนำไปใช้ประโยชน์

ยุทธศาสตร์

เพื่อให้บรรลุตามวิสัยทัศน์ที่กำหนด  สมาคมได้กำหนด ยุทธศาสตร์ 3 ข้อ ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1: การยกระดับคุณภาพของการให้บริการ
ยุทธศาสตร์ที่ 2: การใช้ประโยชน์ประทวนสินค้า
ยุทธศาสตร์ที่ 3: การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

การดำเนินการและกิจกรรมของสมาคมในแต่ละยุทธศาสตร์  สมาคมได้มีการดำเนินการและจัดกิจกรรมไปแล้วดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การยกระดับคุณภาพของการให้บริการ
เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานของคลังสินค้า ไซโล และห้องเย็น  ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่ค่อยให้ความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพของการให้บริการ  แต่กลับไปแข่งขันกันด้านราคาโดยไม่ค่อยพัฒนาคุณภาพของการให้บริการ  ทำให้ผู้ใช้บริการเลือกใช้บริการที่มีราคาที่ต่ำที่สุดโดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับคุณภาพของการให้บริการมากนัก  ทั้งที่หากเกิดความเสียหายแก่สินค้าที่ฝากเก็บ มูลค่าของความเสียดังกล่าวอาจสูงกว่าค่าบริการหลายเท่า   ธุรกิจคลังสินค้า ไซโล และห้องเย็นจึงไม่เกิดการพัฒนาอย่างที่ควรเป็น  หากเราเปรียบเทียบกับธุรกิจโรงแรม  เราจะเห็นว่าโรงแรมมีการแบ่งระดับคุณภาพเป็นระดับสามดาวถึงห้าดาว  โรงแรมระดับห้าดาวมีมาตรฐานการให้บริการที่ดีเยี่ยมก็สามารถคิดอัตราค่าบริการที่สูงได้  ในขณะโรงแรมระดับสามดาวมีมาตรฐานการให้บริการพอใช้ก็จะคิดอัตราค่าบริการที่ไม่สูงนัก  ผู้ใช้บริการโรงแรมเป็นผู้เลือกว่าต้องการได้รับบริการระดับคุณภาพใดตามอัตราค่าบริการที่สอดคล้องกับระดับคุณภาพนั้น

สมาคมฯ ได้ผลักดันให้มีการกำหนดมาตรฐานของคลังสินค้า ไซโล และห้องเย็น ขึ้น โดยมีการจัดระดับคุณภาพของการให้บริการเป็นระดับสามดาวถึงห้าดาว ในลักษณะคล้ายกับธุรกิจโรงแรม

ทั้งนี้สมาคมได้ประสานความร่วมมือกับกรมการค้าภายใน  กรมการค้าภายในจึงได้จัดงบประมาณและมอบให้ อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (สรอ.) ดำเนินการการจัดทำมาตราฐานคลังสินค้า ไซโล และห้องเย็น  พัฒนาผู้ประกอบการเข้าสู่มาตรฐาน และตรวจประเมินเพื่อการรับรอง โดยได้ดำเนินการในเดือนพฤษภาคมถึงกันยายน พ.ศ. 2553  ปัจจุบันได้มีการจัดทำมาตรฐานดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  และมีผู้ประกอบการผ่านการตรวจประเมินรับรองมาตรฐานแล้วจำนวน 30 รายในโครงการนำร่องของปี 2553 โดยในปีถัดไปจะมีโครงการต่อเนื่องเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการเข้าสู่มาตรฐาน และตรวจประเมินเพื่อการรับรองมาตรฐานให้แก่ผู้ประกอบการเพิ่มเติมอีก

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การใช้ประโยชน์ประทวนสินค้า
ประทวนสินค้า เป็นเอกสารที่ผู้ให้บริการรับฝากสินค้าซึ่งอาจเป็น คลังสินค้า ไซโล หรือห้องเย็น ออกให้แก่ผู้ซึ่งนำสินค้ามาฝาก  โดยจะมีรายละเอียดที่สำคัญระบุในประทวนสินค้า เช่น ชนิดสินค้า จำนวนสินค้า ชื่อและที่อยู่ของผู้ฝากและผู้รับฝากสินค้า เป็นต้น  โดยผู้ฝากสินค้าสามารถนำประทวนสินค้าไปยื่นกับธนาคารเพื่อใช้เป็นหลักค้ำประกันในการขอกู้ยืมเงินได้  ประทวนสินค้าเป็นเหมือนเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ในสินค้า  เจ้าของประทวนสินค้าสามารถโอนกรรมสิทธิ์สินค้าได้โดยไม่ต้องส่งมอบสินค้า  ลักษณะคล้ายๆ กับโฉนดที่ดิน  เจ้าของโฉนดที่ดินสามารถใช้โฉนดที่ดินเป็นหลักค้ำประกันในการขอกู้ยืมเงินได้

หากมีการใช้ประโยชน์ของประทวนสินค้าได้อย่างเต็มที่ จะเป็นประโยชน์กับทั้งผู้ฝากสินค้าและผู้รับฝากสินค้าอย่างมาก  กล่าวคือ ผู้ฝากสินค้าสามารถนำประทวนสินค้าไปใช้ในการขอกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน  เงินที่กู้ยืมได้ก็สามารถไปใช้ในการผลิตหรือซื้อสินค้าใหม่ได้ และอาจนำสินค้าดังกล่าวมาฝากอีก  ทำให้เกิดหมุนเวียนทางธุรกิจได้หลายรอบ นอกจากนี้ยังช่วยให้เจ้าของสินค้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าเกษตรมีทางเลือก  ไม่จำเป็นต้องขายสินค้าหากราคาสินค้ายังไม่เป็นที่น่าพอใจ 

โดยการนำสินค้าไปฝากไว้กับคลังสินค้า ไซโล หรือห้องเย็น และนำประทวนสินค้าไปใช้กู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินเพื่อนำเงินกู้ยืมที่ได้ไปใช้จ่ายที่จำเป็นได้ก่อน เมื่อราคาสินค้าเป็นที่น่าพอใจแล้ว  จึงค่อยขายสินค้าที่ฝากไว้โดยคืนเงินกู้ยืมให้กับสถาบันการเงินเพื่อรับประทวนสินค้าคืนและใช้ในการเบิกสินค้าที่ฝากไว้  แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าปัจจุบันการใช้ประโยชน์ของประทวนสินค้ายังมีน้อย  เนื่องจากสถาบันการเงินโดยทั่วไปยังไม่ให้ความเชื่อถือในประทวนสินค้า

สมาคมได้ผลักดันให้มีการใช้ประโยชน์ของประทวนสินค้ามากขึ้น  โดยให้มีการจัดระบบการใช้ประโยชน์ของประทวนสินค้าเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่สถาบันการเงินในการรับประทวนสินค้าเป็นหลักค้ำประกันสำหรับการให้กู้ยืมเงิน  สมาคมได้หารือกับอธิบดีกรมการค้าภายในในเรื่องนี้โดยอธิบดีกรมการค้าภายในได้เห็นด้วยในหลักการ และในปี 2552 ได้มีคำสั่งกรมการค้าภายในแต่งตั้งคณะกรรมการจัดระบบเพื่อการใช้ประโยชน์จากใบรับของคลังสินค้าและประทวนสินค้า โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากใบรับของคลังสินค้าและประทวนสินค้าให้เป็นที่เชื่อถือแก่บรรดาสถาบันการเงินและบุคคลทั่วไป  ตลอดจนใช้เป็นเครื่องมือในการรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ อันจะช่วยลดภาระของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตร 

คณะกรรมการชุดนี้มีลักษณะเป็นคณะกรรมาการร่วมภาครัฐและเอกชนโดยมีอธิบดีกรมการค้าภายในเป็นประธาน นายกสมาคมเป็นรองประธาน  และผู้แทนองค์กรภาครัฐและเอกชนร่วมเป็นกรรมการ เช่น ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า  ผู้แทนกรมพัฒนาธุรกิจการค้า  ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ผู้แทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย  ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  และผู้แทนสมาคมธนาคารไทย เป็นต้น  การจัดระบบเพื่อการใช้ประโยชน์จากประทวนสินค้าในขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการโดยมีคณะกรรมการชุดดังกล่าวเป็นผู้รับผิดชอบ

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการธุรกิจคลังสินค้า ไซโล และห้องเย็น  อันเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดการค้าเสรีของประเทศไทย  สมาคมได้ดำเนินการในมาตรการที่สำคัญดังนี้

1. มาตรการประสานประโยชน์ร่วมกันในระหว่างผู้ประกอบการ  โดยสมาคมได้จัดทำโครงการรวมซื้อเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถซื้อสินค้าหรือบริการในราคาที่ถูกลง  ทั้งนี้ได้เริ่มในเรื่องของการทำประกันภัยสินค้าที่รับฝากและทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องก่อน  ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ

2. มาตรการส่งเสริมให้ความรู้ในการบริหารงานและเทคโนโลยี  โดยสมาคมได้จัดการฝึกอบรมให้กับผู้ประกอบการเป็นประจำทุกปี  ที่ผ่านมาสมาคมได้จัดการสัมมนาเพื่อฝึกอบรมไปแล้วหลายเรื่องเช่น การใช้ประโยชน์ประทวนสินค้า  การประหยัดพลังงาน  และการรับผิดต่อสินค้าที่รับฝากตามกฎหมายและการทำประกันภัย  เป็นต้น

3. มาตรการปรับปรุงกฎระเบียบและข้อบังคับที่เป็นอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ  ที่ผ่านมาสมาคมได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับกรมการค้าภายใน และคณะกรรมการพัฒนากฎหมายในคณะกรรมการร่วมสามสถาบันภาคเอกชน (กกร.) ในการปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติคลังสินค้า ไซโล และห้องเย็น  ซึ่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นร่างที่กระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าภายในเป็นผู้เสนอ    ขณะนี้ได้ปรับปรุงเรียบร้อยแล้วและอยู่ในขั้นตอนที่กระทรวงพาณิชย์พิจารณาเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติต่อไป